สุดยอด การควบคุมด้วยสายตา (Visual Control)
เขียนโดย ทองพันชั่ง พงษ์วารินทร์ วิทยากร นักเขียน และที่ปรึกษาEmail: tpongvarin@yahoo.com,
www.bt-training.com, Tel:089-8118340
เมื่อวานนี้ผมพาภรรยาไปรับประทานก๋วยเตี๋ยวเรือเจ้าประจำ หลังจากรัรบประทานเสร็จผมก็เรียกพนักงานเพื่อคิดเงิน
“น้องครับ คิดเงินด้วยครับ” ผมพูดบอกพนักงานเก็บเงิน
พนักงานคนนั้นเดินมา แล้วหยุดยืนที่หน้าโต๊ะ แล้วพูดว่า “พี่มีแคบหมูหรือเปล่าคะ”
“ไม่มีครับ” ผมตอบ
จากนั้นพนักงานก็พูดต่อว่า“ค่าน้ำแข็งเปล่าไม่คิดค่ะ.......................... “ เสียงเงียบไปครู่หนึ่ง ผมเลยมองไปที่หน้าของเธอ เธอทำคิ้วขมวดเหมือนผูกโบว์ แล้วทำปากขมุบขมิบ เพราะกำลังคำนวณอยู่ว่าผมต้องจ่ายเงินทั้งหมดเท่าไร? ระหว่างที่เธอกำลังคิดอยู่นั้น เพื่อนของเธออีกคนซึ่งอยู่แถวนั้นพอดี เห็นเธอคิดเงินอยู่นานจึงรีบตะโกนบอกเธอว่า
“เก้าสิบบาท ค่ะ” ผมควักแบงค์ร้อยให้กับพนักงานเก็บเงิน พลางนึกชมน้องที่ตะโกนว่า “เก้าสิบบาท” ในใจว่าน้องคนนี้นี่หัวดีจริงๆ
ระหว่างที่รอเงินทอนอยู่นั้นผมก็ได้เห็นกระดาษขนาด A4 แผ่นหนึ่ง เขียนเป็นสูตรคูณแม่ 18 ว่า
1 ชาม X 18 = 18 บาท
2 ชาม X 2 = 36 บาท
3 ชาม X 18 = 54 บาท
4 ชาม X 18 = 72 บาท
5ชาม X 18 = 90 บาท ,.......................จนถึง 10 ชาม X 18 = 180 บาท
ผมเห็นกระดาษแผ่นนี้ ก็ร้องอ๋อว่า เธอไม่ได้คิดเงินเร็วจี๋หรอกครับ แต่การที่เธอตอบได้อย่างรวดเร็ว และถูกต้องก็เพราะว่า เธอดูจากกระดาษแผ่นนี้นี้เอง
จากนั้นผมก็มานึกถึง การควบคุมด้วยสายตา(Visual Control) ขั้นมาทันที และรู้สึกชื่นชมไอเดียของผู้ที่ทำสิ่งนี้ขึ้นมา เพราะกระดาษแผ่นมีประโยชน์หลายประการเช่น ลดปัญหาการคิดเงินผิดพลาด และลดเวลาการคิดเงิน ซึ่งเป็น ความสูญเปล่า (Wastes) ที่ควรกำจัดให้หมดไป
เพียงแค่เวลาเก็บเงินมองว่าลูกค้ากินกี่ชาม แล้วหันไปดูกระดาษแผ่นนี้ แป๊บเดียวก็ตอบได้อย่างถูกต้อง ในทันทีว่าลูกค้าต้องจ่ายเงินเท่าใด ประหยัดเวลา และลดความผิดพลาด อย่างนี้น่าชื่นชมจริงๆครับ
การควบคุมด้วยสายตา (Visual) เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่นิยมใช้ในการป้องกัน หรือลดความผิดพลาดของผู้ปฏิบัติงาน โดยอาจทำเป็นสัญลักษณ์ รูปภาพ หรือตัวหนังสืออะไรก็ได้ โดยมีหลักง่ายๆว่า
“ใช้เวลาคิดน้อยที่สุด (ไม่คิดได้ยิ่งดี) และผลลัพธ์ที่ได้ถูกต้องที่สุด ใครมองปุ๊ป ก็รู้ปั๊บ ทันทีว่าต้องทำอะไร หรือไม่ควรทำสิ่งใด หรือ สิ่งที่กปฏิบัติงานอยู่นั้นถูกต้อง หรือมีสิ่งผิดปกติประการใด” การควบคุมด้วยสายตา หรือ Visual Control นิยมใช้เป็น สัญลักษณ์ หรือป้าย เช่น ป้ายเตือนระวังต่าง ๆ ป้ายบอกสถานที่ ป้ายบอกวิธีการปฏิบัติงาน ป้ายบอกทิศทาง ป้ายบอกสถานะของเครื่องจักร บอกลำดับการปฏิบัติงานว่าต้องทำสิ่งใดก่อน เส้นสีบอกระดับของเหลว ลม กระแสไฟฟ้า เป็นต้น มีที่อยู่ในเครื่องจักรว่าอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดเอาไว้หรือไม่ สำหรับตัวอย่างวิธีการค้นหาว่าเราควรจะมี Visual Control อะไรบ้าง นั้น ผมมีหลักง่ายๆดังนี้คือ
หน่วยงานที่มีการตัดสินใจ โดยควรมีป้ายบอกขั้นตอนการตัดสินใจ หรือมาตรฐานการตัดสินใจ เช่น กรณีที่ทำถูกต้อง หรือกระทำผิด เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถตัดสินใจได้ทันที ต้องทำสิ่งใดก่อนหลัง เป็นต้น หน่วยงานที่มีการทำผิดพลาด ควรทำป้ายเตือน หรือข้อควรระวัง รวมไปถึงข้อปฏิบัติเมื่อเกิดความผิด รวมไปถึงป้ายเตือนในขั้นตอนต่างๆ ที่มักจะมีความผิดพลาดเกิดขึ้น
หน่วยงานที่มีอันตราย ควรมีป้ายบอกขั้นตอน ข้อควรปฏิบัติ และไม่ควรปฏิบัติ เช่นป้ายสวมอุปกรณ์ก่อนเข้าทำงาน ระวังศีรษะ ระวังพื้นลื่น ระวังเครื่องจักร เป็นต้นครับ
สำหรับตำแหน่งของเครื่องจักร หรืออุปกรณ์ ควรมี ป้ายบอก เพื่อกำหนด หรือระดับสูง (High) กลาง (Middle) ต่ำ (Low) เพื่อง่ายต่อการตรวจสอบ ระดับของของเหลว หรือแรงดันที่อยู่ในเครื่อง ระดับของลม กระแสไฟฟ้า หรือ การขีดเส้นกำหนดตำแหน่งการติดตั้งเครื่องมืออุปกรณ์ เพื่อใช้เป็นมาตรฐานการปฏิบัติงานทุกครั้งที่มีการติดตั้งเครื่องจักร เป็นต้น (จริงๆ มีอีกมากมาย หลายรูปแบบครับ)
สำหรับการเลือกใช้ Visual Control ไปใช้งานมีหลักง่ายๆ ดังต่อไปนี้ครับ
1. ควรเลือกใช้ทั้งขนาด รูปร่าง และสีให้เหมาะสม กับวัตถุประสงค์
2. ติดอยู่ในระดับ หรือตำแหน่งที่ผู้ปฏิบัติเห็นได้ชัดเจน
3. สอดคล้องกับสภาพการปฏิบัติงานจริง
4. ไม่ควรมีเยอะจนเกิดความสับสนนะครับ
การควบคุมด้วยสายตานี้มีประโยชน์มากหากนำไปใช้งานจริงดังตัวอย่างข้างต้น
แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือ ทุกคนต้องทำด้วยความรู้ ความเข้าใจ ตระหนัก และให้ความร่วมมือ และเล็งเห็นความสำคัญ และประโยชน์ที่ได้ เพราะถ้าหากทำไปโดยที่ขาดสิ่งเหล่านั้นแล้วละก็ Visual Control ก็จะกลายเป็นสิ่งที่ทำไว้เพื่อโชว์ผู้บริหาร ลูกค้า หรือผู้ตรวจประเมิน (Auditor) เท่านั้นเอง
สุดท้ายขอฝาก ข้อคิด สะกิดใจ ที่ว่า
"การพัฒนาที่เกิดจากพื้นฐานของความเข้าใจ เป็นวิถีทางที่นำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อหน่วยงาน”
ที่มา http://www.bt-training.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539191674&Ntype=1
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น